Skip to main content
6 เรื่องควรรู้ก่อนทำป้ายหน้าร้าน
HIGHLIGHTS
-
ป้ายที่แสดง ชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายทางการค้า สำหรับการประกอบกิจการ การทำการค้าหรือโฆษณาเพื่อหารายได้จะต้องทำการยื่นเสียภาษีป้าย
-
การคำนวณภาษีป้ายจะคิดจากพื้นที่ของป้ายออกเป็นตารางเซนติเมตร โดยป้ายที่มีขอบเขตป้ายชัดเจนให้ใช้ด้านกว้างสุด x ด้านยาวสุด
-
การยื่นแบบประเมินเพื่อเสียภาษีป้ายจะทำในช่วงระยะเวลาไม่เกินวันที่ 31 มีนาคมของปีนั้น ๆ หากมีการติดตั้งป้าย แก้ไขป้าย ให้ยื่นแบบประเมินภาษีป้ายภายใน 15 วันหลังจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงป้าย
หลายร้านค้าอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าการทำป้ายร้านค้า หรือป้ายหน้าร้านมีค่าใช้จ่ายที่เราต้องทำการเสียภาษีป้ายด้วย ซึ่งจะมีรายละเอียดและค่าใช้จ่าย กฎต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวันนี้ร้านติดดาวเราจะมาแบ่งปันความรู้เรื่องการทำป้ายหน้าร้าน เรื่องภาษีป้ายกัน
ป้ายแบบไหนบ้างที่ต้องเสียภาษีป้าย
ป้ายที่แสดง ชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายทางการค้า สำหรับการประกอบกิจการ การทำการค้าหรือโฆษณาเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของโฆษณา ตัวอักษร ภาพ หรือสัญลักษณ์ บนวัสดุใด ๆ ก็ตาม ด้วยการเขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีการอื่น ๆ ก็ตาม
ป้ายที่ได้รับการยกเว้นเสียภาษี
ป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย มีอยู่หลากหลายประเภทด้วยกัน ทั้งจาก พ.ร.บ.ภาษีป้ายปี พ.ศ.2510 และฉบับที่ 2 ปี พ.ศ.2535
-
ป้ายที่ติดอยู่กับสินค้า บรรจุภัณฑ์สินค้า ติดไว้ที่คน และป้ายที่ติดไว้ที่สัตว์
-
ป้ายที่ติดอยู่ภายในตัวอาคาร หรือพื้นที่ส่วนตัว แต่ต้องมีขนาดไม่เกินตามที่กำหนด
-
ป้ายที่ติดอยู่หน้าโรงมหรสพ เพื่อโฆษณามหรสพนั้น ๆ และป้าย ที่ติดบริเวณงานที่จัดขึ้นชั่วคราว
-
ป้ายของหน่วยงานราชการ หน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล ป้ายวัด และป้ายมูลนิธิ
-
ป้ายของธนาคารบางแห่ง และบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
-
ป้ายของโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น ๆ
-
ป้ายของผู้ประกอบการเกษตร ที่เป็นผลผลิตจากการเกษตรของตนเอง
-
ป้ายที่มีลักษณะเป็นล้อเลื่อน หรือติดอยู่กับรถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ร์ รถบดถนน หรือรถแทรกเตอร์ รวมถึงยานพาหนะอื่น ๆ ที่มีพื้นที่โฆษณาไม่เกิน 500 ตารางเซนติเมตร
อัตราในการคำนวณภาษีป้าย
การคำนวณภาษีป้าย คิดจากพื้นที่ของป้ายออกเป็นตารางเซนติเมตร โดยป้ายที่มีขอบเขตป้ายชัดเจนให้ใช้ด้านกว้างสุด x ด้านยาวสุด ส่วนป้ายที่กำหนดขอบเขตไม่ชัดเจน ให้นับจากขอบเขตของตัวอักษรที่อยู่ริมสุด คำนวณขนาดพื้นที่ป้ายได้ดังนี้
กว้าง x ยาว / พื้นที่ 500 ตร.ซม. = พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี
ต่อมาเราจะมาคำนวณภาษีป้ายที่ต้องจ่ายสามารถคำนวณได้จาก
พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี x อัตราภาษี = ภาษีป้ายที่ต้องจ่าย
ซึ่งอัตราภาษีป้ายจะแบ่งออกตามลักษณะของสิ่งที่ปรากฏบนแผ่นป้ายเป็น 3 แบบด้วยกัน
1.ป้ายที่มีเฉพาะตัวอักษรภาษาไทยเท่านั้น
-
-
คิดอัตรา 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
-
ป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่ได้ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ ให้คิดอัตรา 10 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
2.ป้ายที่มีอักษรภาษาไทยปนกับภาษาต่างประเทศ หรือเครื่องหมายและภาพ และอักษรไทยทั้งหมดต้องอยู่เหนือส่วนอื่น
-
-
คิดอัตรา 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
-
ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ได้ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ให้คิดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
3.ป้ายที่ไม่มีภาษาไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายอื่น ๆ หรือไม่ และป้ายที่มีภาษาไทยบางส่วน หรืออักษรไทยทั้งหมดอยู่ต่ำกว่าอักษรภาษาต่างประเทศ
-
-
คิดอัตรา 50 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
-
ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ได้ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ให้คิดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
*เพิ่มเติมสำหรับป้ายที่ถูกประเมินภาษีป้ายน้อยกว่า 200 บาท ให้ปัดเป็นการจ่ายภาษีป้าย 200 บาท
*พื้นที่ป้ายที่คำนวณได้ หากมีเศษเกินแต่เกินกึ่งหนึ่งของ 500 ตารางเซนติเมตร ให้คิดเป็น 500 ตารางเซนติเมตร
การยื่นแบบประเมินเพื่อเสียภาษีป้าย
เมื่อคุณต้องการติดตั้งป้ายร้านหรือป้ายอื่น ๆ ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีป้าย ก่อนการติดตั้งจะต้องทำการแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตั้งป้าย ซึ่งช่วงระยะเวลาในการยื่นจะต้องยื่นประเมินเพื่อเสียภาษีป้ายไม่เกินวันที่ 31 มีนาคมของปีนั้น ๆ หากมีการติดตั้งป้าย แก้ไขป้าย หรือเพิ่มป้าย หลังจากวันที่ 31 มีนาคมของปีนั้น ๆ ให้ยื่นแบบประเมินภาษีป้ายภายใน 15 วันหลังจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงป้าย
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นแบบประเมินเพื่อเสียภาษีป้าย (ในกรณีที่เป็นผู้ยื่นใหม่)
-
ใบอนุญาตติดตั้งป้าย ใบเสร็จรับเงินค่าทำป้าย
-
รูปป้าย พร้อมขนาดกว้าง x สูง
-
สำเนาทะเบียนบ้าน
-
บัตรประจำตัวประชาชน
-
กรณีเจ้าของป้ายเป็นนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ทะเบียนพาณิชย์และหลักฐานของสรรพากร เช่น ภ.พ.01, ภ.พ.09, ภ.พ.20
-
หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นแบบได้ด้วยตนเอง พร้อมติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย)
-
แบบเสียภาษีป้าย (ภ.ป.1) สำหรับผู้เสียภาษีป้ายรายเก่า
การชำระเงินภาษีป้าย
เมื่อได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีป้ายแล้ว ให้ดำเนินการชำระภาษีป้ายภายใน 15 วัน ได้ที่สำนักงานเขต (ฝ่ายรายได้) ที่ธนาคารกรุงไทย ผ่าน ATM ธนาคารกรุงไทย และ Internet Banking ธนาคารกรุงไทย
บทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ภาษีป้าย
-
หากจงใจไม่ยื่นแบบประเมินภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท
-
หากไม่เสียภาษีป้ายภายในวันที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับวันละ 100 บาท
-
หากไม่แจ้งการรับโอนป้าย หรือไม่แสดงหลักฐานการเสียภาษีป้าย ณ สถานประกอบการค้าหรือสถานประกอบการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท
เรื่องภาษีป้ายร้านค้าอาจเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้ามหรือไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะต้องทำการยื่นเรื่องเพื่อประเมินว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ซึ่งในการเสียภาษีป้ายร้านค้านั้นจะคำนวณจากความกว้าง x ยาวและคำนวณออกมาเป็นตารางเซนติเมตร และทำการยื่นเรื่อง ซึ่งช่วงระยะเวลาในการยื่นประเมินเพื่อเสียภาษีป้ายจะไม่เกินวันที่ 31 มีนาคมของปีนั้น ๆ หากมีการติดตั้งป้าย แก้ไขป้าย หรือเพิ่มป้าย หลังจากวันที่ 31 มีนาคมของปีนั้น ๆ ให้ยื่นแบบประเมินภาษีป้ายภายใน 15 วันหลังจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงป้าย
แหล่งที่มา