เทคนิคบริหารการเงินร้านค้ารับรองไม่มีขาดทุน

HIGHLIGHTS

  • กระแสเงินสดเป็นตัวที่บ่งบอกว่าเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจของคุณเป็นอย่างไร ซึ่งแบ่งออกเป็น กระแสเงินสดที่เป็นบวก และ กระแสเงินสดที่เป็นลบ โดยจะแบ่งยอดต่าง ๆ ตามช่วงเวลา เช่น หนึ่งเดือน ไตรมาส หรือหนึ่งปี

  • การทำบัญชีร้านค้าเบื้องต้นช่วยให้คุณสามารถคำนวณรายรับ กำไร จำนวนสินค้าที่ขายได้ในแต่ละวันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงจำนวนสต็อกสินค้าที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น และ ตรวจสอบว่าสินค้าหายหรือไม่

  • การสร้างนิสัยทางการเงินที่ดีสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียง แบ่งเงินส่วนหนึ่งของรายได้ขึ้นมาเพื่อออมก่อนที่จะนำไปใช้จ่าย ลดการเป็นหนี้สินโดยไม่จำเป็น ทำการจ่ายบิลต่าง ๆ ให้ตรงเวลา และสุดท้ายนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนต่อยอด


ในการทำธุรกิจค้าขายเรื่องบริหารการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินไปได้ และเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าอนาคตธุรกิจของคุณจะเป็นอย่างไร ซึ่งเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจและให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งบทความนี้ร้านติดดาวเราได้รวมเทคนิคการบริหารเงินอย่างไรไม่ให้ขาดทุน และเคล็ดลับการสร้างนิสัยการเงินที่ดีที่ช่วยให้คุณสามารถบริหารการเงินได้ดีมากยิ่งขึ้น


สารบัญ

 

  1. การทำความเข้าใจกระแสเงินสด

  2. เงื่อนไขในการชำระเงิน

  3. การทำบัญชีร้านค้าเบื้องต้น

  4. การเปิดบัญชีธุรกิจแยก

  5. การสร้างนิสัยทางการเงินที่ดี


1.การทําความเข้าใจกระแสเงินสด

กระแสเงินสด  คือ เงินที่เข้าและออกจากร้านค้าในช่วงที่กำหนด โดยมี “รายได้” จากลูกค้าที่ซื้อสินค้าในร้านค้า และเงินที่ออกจากร้านค้าในรูปแบบของ “รายจ่าย” อย่างเช่น ค่าเช่าร้าน ค่าจ้าง ค่าซื้อสินค้าเข้าร้าน ซึ่งในกระแสเงินสดเราจะแบ่งออกเป็น

กระแสเงินสดที่เป็นบวก

กระแสเงินสดบวก หมายถึง  คุณมีรายได้เข้ามามากกว่าที่คุณต้องจ่ายออกไป ซึ่งเราจำเป็นต้องรักษาให้มีกระแสเงินสดที่เป็นบวกเอาไว้สำหรับธุรกิจ เพื่อให้สามารถชำระค่าใช้จ่ายได้เมื่อถึงกำหนดชำระ หรือหากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด

กระแสเงินสดที่เป็นลบ

กระแสเงินสดลบ หมายถึง  คุณมีรายจ่ายที่มากกว่ารายได้ที่เข้ามา เช่น  หากคุณลงทุนซื้อชั้นวางในร้านใหม่ หรือลูกค้าที่จ่ายเงินเกินกำหนด คุณอาจจะต้องนำเงินเก็บออกมาใช้เพื่อชดเชยกระแสเงินสดที่ขาดไป ซึ่งเราต้องทำการลดจำนวนสินค้าในสต็อก หรือลดการให้เครดิต ของลูกค้าในการชำระภายหลังให้น้อยลง เพื่อให้กระแสเงินกลับสู่ปกติ โดยปกติแล้วกระแสเงินสดเราจะแบ่งยอดต่าง ๆ  ตามช่วงเวลา เช่น หนึ่งเดือน ไตรมาส หรือหนึ่งปี


2.เงื่อนไขในการชำระเงิน

อีกขั้นตอนสำคัญในการจัดการกระแสเงินสด  คือ การกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินที่เหมาะสม ธุรกิจบางประเภทที่ซื้อมาขายไปแบบรับเงินทันที แต่การเปิดร้านค้าขายของชำหรือร้านโชห่วยอาจมีลูกค้าที่ต้องการเครดิตในการจ่าย ซึ่งเราควรกำหนดเงื่อนไขการจ่ายที่ชัดเจน  เช่น ระยะเวลา 7, 14, 30 วัน  เป็นต้น ซึ่งระยะเวลาของเครดิตที่ให้กับลูกค้าและการขยายระยะเวลาอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการดึงดูดลูกค้าได้เช่นกัน


3.การทำบัญชีร้านค้าเบื้องต้น

การทำบัญชีร้านค้ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก  เนื่องจากในหนึ่งวันมีการซื้อขายวันละหลายครั้ง ทำให้รายการสินค้าและเงินมีการไหลเวียนตลอด ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีการจัดการและบริหารการเงินเป็นอย่างดี

ในการทำบัญชีเราจะเริ่มจากการจดบันทึกสิ่งเหล่านี้ เพื่อการคำนวณรายได้ กำไร และเอาไว้ใช้ตรวจสอบจำนวนสินค้าที่ขายได้ ที่สำคัญเพื่อที่เราจะได้รู้ว่ามีสินค้าหายหรือถูกขโมยหรือไม่

  1. จำนวนสินค้าที่ซื้อ

  2. ต้นทุนสินค้า/ชิ้น

  3. ราคาขาย/ชิ้น

  4. กำไรสินค้า/ชิ้น

ซึ่งคุณสามารถจดบันทึกรายการสินค้าและจำนวนที่ขายในแต่ละวัน จะทำให้สามารถเช็คสต็อกสินค้าและรายได้ในแต่ละวันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น


4.เปิดบัญชีธุรกิจแยกต่างหาก

ในการทำธุรกิจเราควรเปิดบัญชีแยกสำหรับร้านค้าต่างหาก ในการบันทึกรายการต่าง ๆ เช่น รายได้แต่ละวัน ค่าซื้อสินค้าเพิ่ม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าร้าน เป็นต้น  เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ ช่วยให้คุณไม่ต้องปวดหัวในการแยกแต่ละรายการว่ามาจากไหน และช่วยให้บริหารการเงินได้อย่างเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น


5.การสร้างนิสัยทางการเงินที่ดี

ออมเงินก่อนใช้

เราควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อทำการออมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งอาจเป็นสัดส่วนจากกำไรที่ร้านค้าขายของได้และเก็บขึ้นก่อนที่จะนำไปใช้จ่ายต่าง ๆ จะช่วยให้เราสามารถมีเงินเก็บอย่างต่อเนื่อง

 

ลดการเป็นหนี้สิน

นอกจากการออมที่เป็นวิธีเพิ่มจำนวนเงินแล้ว เราต้องทำการลดจำนวนหนี้สินที่จะเกิดขึ้นหรือหลีกเลี่ยงการใช้เงินเกินความจำเป็น เพื่อลดรอยรั่วของเงินในธุรกิจนั่นเอง

 

การจ่ายบิลต่าง ๆ ให้ตรงเวลา

ฝึกนิสัยการจ่ายบิลต่าง ๆ หรือยอดค้างชำระจากเจ้าหนี้อย่างตรงเวลา ช่วยให้เราสามารถลดค่าดอกเบี้ยหรือค่าเกินเวลาให้น้อยลง และยังฝึกความเป็นระเบียบทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น

 

นำเงินไปลงทุน

เมื่อเราทำการออมเงินและลดหนี้สินที่จะเกิดแล้ว เราอาจมองหาช่องทางต่าง ๆ ที่นำเงินไปลงทุนให้งอกเงยเพิ่มมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นการฝากประจำ กองทุนต่าง ๆ ซึ่งอย่าลืมที่จะศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนลงทุน

 

หากคุณมีการบริหารการเงินของร้านค้าที่ดี จะช่วยให้คุณมีฐานการทำธุรกิจที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดทุน รวมไปถึงคุณสามารถต่อยอดการเงินให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นจากการนำรายได้ไปลงทุนอีกด้วย

แหล่งที่มา : https://www.aabrs.com/managing-small-business-finances